วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เรียนรู้เทคนิคขับรถเอาตัวรอดยามฉุกเฉิน

ขับรถลุยฝนยิ่งเร็วยิ่งเสี่ยงเบรกพรวดมีปัญหา
เป็นคนไทยอยู่เมืองไทย คงจะหนีฤดูฝนอันยาวนานไม่ได้ เชื่อว่าน้อยคนนักที่ชอบการขับขี่รถท่ามกลางสายฝน เพราะนอกจากทัศนะวิสัยจะไม่ดีแล้ว โอกาสเกิดอุบัติเหตุยังสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณตั้งมั่นอยู่ในความประมาท
หลีกเลี่ยงไม่ได้ยามฝนตกหรือหลังฝนหยุดตกใหม่ ๆ ที่จะมีการขังของน้ำตามจุดต่าง ๆ บนผิวถนน อุบัติเหตุบนท้องถนนหลายครั้งเกิดจากน้ำขัง การวิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านแอ่งน้ำ จะทำให้เกิดอาการล้อแฉลบหรือเรียกว่าการเหิรน้ำ ซึ่งจะทำให้รถสูญเสียการทรงตัว ทางเดียวในการแก้ไขก็คือ อย่าตกใจ และต้องไม่กระแทกเบรกลงไปอย่างรุนแรง โดยให้ทำการควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางให้ได้มากที่สุด แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกัน โดยไม่ขับรถเร็วผ่านแอ่งน้ำที่ขังอยู่
การใช้เบรกก็เช่นกัน หากรถคุณไม่มีระบบเบรกเอบีเอส ไม่ควรขับขี่แบบที่ต้องมีการเบรกกระทันหัน หรือหากจำเป็นควรเบรกแบบกดปล่อยกดปล่อย ซึ่งแน่นอนระยะทางในการเบรกต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นนอน แต่รถคุณก็จะไม่ไกลจนสูญเสียการทรงตัว และถ้าใครรู้สึกว่าหลังลุยฝนแล้วเบรกลื่น ๆ ก็ให้ย้ำเบรกบ่อย ๆ เพื่อให้ผ้าเบรกร้อนหรือแห้ง
รถดับกลางน้ำท่วมทำยังไงดี
กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเมืองไทย ที่ฝนตกแล้วต้องน้ำท่วม บางครั้งเราต้องขับรถลุยน้ำก้นครึ่งค่อนล้อ รถสวนน้ำกระเฉาะเข้าห้องเครื่อง แล้วจู่ ๆ เครื่องก็ดับเอาดื้อ ๆ งานนี้จะไปต่อต้องเปียกอย่างเดียวเลยครับ
เหตุที่รถดับเอาดื้อ ๆ ก็เพราะน้ำเข้าไปในเครื่อง จานจ่ายก็เปียกจนหยุดทำงาน ทางเดียวที่สามารถทำได้เมื่อเครื่องดับก็คือ เข็นรถหลบไปในที่แห้ง ๆ ข้างทาง ใช้ผ้าแห้งซับที่คอยล์ และจานจ่ายให้แห้ง ให้มั่นใจนะครับว่าแห้งดีแล้ว ลองสตาร์ทดูใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าไม่ติดก็คงต้องพึ่งบริการรถลากกันล่ะครับ ส่วนทางป้องกันง่ายที่สุดก็คือ หลบเลี่ยงเส้นทางที่น้ำท่วมขังหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็อาจหาถุงพลาสติกมาครอบจานจ่าย เพื่อไม่ให้น้ำเล็ดลอดเข้าไปได้
วิ่ง ๆ อยู่รถดับใจเย็น ๆ อย่าตกใจ
กรณีนี้ก็มีให้เห็นกันบ่อย วิ่ง ๆ อยู่เครื่องยนต์เกิดดับเอาดื้อ ๆ อันดับแรกอย่าเพิ่งตกใจหรือสงสัยอะไรนะครับ คิดเสียว่าของมันเป็นกันได้ รีบเหยียบคลัทช์ค้างเอาไว้ ส่วนเกียร์อัตโนมัติให้เลื่อนมาที่ตำแหน่ง N เพื่อปลดเฟืองเกียร์ เพราะเกียร์อาจพังได้ จากนั้นค่อย ๆ เหยียบเบรก ขอเน้นนะครับว่าค่อย ๆ เหยียบ หากแกระแทกไปทีเดียวเต็ม ๆ ได้หัวทิ่มกันแน่ และอย่าลืมเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อให้สัญญาณรถคันอื่นว่าเรามีปัญหา ค่อย ๆ ควบคุมพวงมาลัยนำรถเข้าจอดหลบข้างทาง
จอดรถสนิทแล้ว ก็ลองสตาร์ทดูอีกครั้ง ถ้าติดก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ติด รถเกียร์ธรรมดาคงต้องหาคนมาช่วยเพื่อเข็นสตาร์ท (เข้าเกียร์แนะนำว่าให้เป็นกียร์ 2หรือ3 – เหยียบคลัทช์ ใ ห้คนเข็น ความเร็วพอเหมาะปล่อยคลัทช์เหยียบคันเร่ง สำหรับเกียร์อัตโนมัติใช้วิธีนี้ไม่ได้) ถ้ายังไม่ติดอีกก็ลองเดฝากระโปรงหน้าเช็คขั้วและสายไฟแบตเตอรี่ว่าแน่นหรือไม่ ขยับหัวเทียน เช็คคอยล์และจานจ่ายว่ามีน้ำขังหรือซึมหรือไม่ ลองสตาร์ใหม่ ถ้ายังไม่ติดอีก หาเบอร์โทรช่างล่ะครับทีนี้
เครื่องร้อนจัดโอเวอร์ฮีต
ไม่ว่าจะเป็นเพราะหม้อน้ำพร่อง ระบบระบายอากาศรถบางรุ่นที่ไม่เหมาะสมกับเมืองไทย เมื่อเข็มอุณหภูมิบนหน้าปัดสูงผิดปกติ จนใกล้หรือเข้าขีดแดง หรือมีอาการเครื่องยนต์กำลังตก นั่นก็คือเครื่องยนต์รถของคุณกำลังร้อนจัด รีบปิดแอร์-วิทยุ เปิดกระจก ดูอาการสักพักว่าเป็นอย่างไร ความร้อนลดลงหรือไม่ แต่ถ้าร้อนจัดจนไอน้ำพุ่งออกมาจากหม้อน้ำ ทีนี้ก็ต้องชะลอรถจอดอย่างเดียว อย่าลืมปิดแอร์-วิทยุเช่นกัน เมื่อรถจอดสนิทปลดเกียร์ว่าง ปล่อยให้เครื่องยนต์เดินเบาสักครู่จึงดับเครื่อง
อย่าเพิ่งรีบร้อนเปิดฝากระโปรงหน้า เพราะไอน้ำนั่นร้อนสุด ๆ รอให้ไอน้ำหยุดพุ่งหรือหมดไปก่อน เปิดฝากระโปรงแล้วก็อย่าเพิ่งเปิดฝาหม้อน้ำ หากรีบเปิดน้ำในหม้อน้ำพุ่งทะลักออกมาลวกได้ ต้องรอให้หม้อน้ำเย็นก่อน ซึ่งอาจใช้น้ำค่อย ๆ ราดรดหม้อน้ำก็ได้ เพื่อให้เย็นเร็ว ๆ จากนั้นก็เปิดฝาเติมหม้อน้ำ ถ้ายังไม่หายโอเวอร์ฮีตอีกก็ต้องเข้าศูนย์กันล่ะครับ หรือถ้าหายก็ควรให้ช่างตรวจเช็คหลังจากนี้เพื่อความแน่ใจ
ส่วนกรณีเบรกแตก ก็ต้องอาศัยความใจเย็นอีกเช่นกัน ลองกระทืบเบรกซ้ำ ไม่ได้ผลให้ลดระดับเกียร์ลงมาที่ละขั้น เพื่อให้เอนจิ้นเบรก เมื่อรถชะลอแล้วค่อย ๆ ดึงเบรกมือในการช่วยหยุด

ไม่มีความคิดเห็น: